เจาะลึก “แนวโน้มการเปลี่ยนแปลง” ของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในอนาคต
21 พ.ค. 2567
ในภูมิภาคเอเชีย หากจะกล่าวว่าประเทศไทยเป็น “ศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ชั้นนำ” ของภูมิภาคเอเชียนั้นก็คงจะไม่ผิดเท่าไรนัก เนื่องจากตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยได้มีการพัฒนา ปรับปรุง และปรับตัวอยู่ตลอด และยังได้รับโอกาสการลงทุนจากนักลงทุนชาวต่างชาติมากมาย ทำให้ตลอดเวลาที่ผ่านมา สถานการณ์และแนวโน้มของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยดูจะเป็นไปในทางที่ดีมาโดยตลอด
แต่เมื่อนึกถึงสถานการณ์ปัจจุบันที่แวดวงอุตสาหกรรมยานยนต์มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นการเข้ามามีบทบาทของรถยนต์ไฟฟ้า การแข่งขันระหว่างประเทศที่สูงขึ้น และปัจจัยอื่น ๆ อีกมากมาย ทำให้ในตอนนี้ เราไม่สามารถที่จะคาดการณ์ได้เลยว่า แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในอนาคตจะเป็นไปในทิศทางไหน
ในบทความนี้ C.C.Autopart ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์อันดับต้น ๆ ของประเทศที่คอยติดตามและอัปเดตข่าวสารความเป็นไปของอนาคตอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยอยู่ตลอด จึงอยากพาทุกคนไปสอดส่องและเจาะลึกแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในอนาคตเท่าที่เราคาดการณ์ได้ในขณะนี้กัน
การเข้ามามีบทบาทของรถยนต์ไฟฟ้าและรถยนต์ Hybrid
ในช่วงระยะเวลา 1-2 ปีที่ผ่านมา หากเราสังเกตรุ่นของรถยนต์ที่แล่นอยู่บนท้องถนนให้ดี ๆ ก็คงจะสังเกตเห็นได้ไม่ยากนักว่าปัจจุบัน รถยนต์ไฟฟ้า (EV) และรถยนต์ Hybrid เริ่มได้รับความนิยมและมีจำนวนผู้ขับเพิ่มมากขึ้น จึงทำให้เราสามารถคาดการณ์ได้ว่า ในอนาคต เป็นไปได้สูงมากว่ายานยนต์แบบเครื่องยนต์สันดาป หรือ ICE จะถูกแทนที่ด้วยรถยนต์ไฟฟ้าและรถยนต์ Hybrid โดยในหลาย ๆ ประเทศในตอนนี้ เริ่มมีอัตราการผลิตรถยนต์แบบ ICE ที่ลดน้อยลง
ยกตัวอย่างเช่น ปริมาณของรถยนต์ที่ขายได้ประเทศนอร์เวย์เมื่อเดือนพฤษภาคมในปี 2566 มีสัดส่วนรถที่วิ่งบนท้องถนนเป็นรถยนต์ EV ถึง 81% โดยที่ประเทศไทยเองก็ไม่น้อยหน้า เพราะเรามีสัดส่วนรถยนต์ EV เพิ่มขึ้นตั้งแต่เดือนมกราคม – เดือนพฤษภาคม มากถึง 24,106 คัน และสืบเนื่องมากจากสัดส่วนของรถยนต์ EV ที่เพิ่มขึ้น ทำให้มีอัตราการขยายตัวของระบบ Ecosystem ที่รองรับตลาดรถยนต์ EV เพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย เช่น การผลิตชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์ที่รองรับรถยนต์ EV การผลิตไฟฟ้า หรือกฎหมายเรื่องการลดคาร์บอนที่สนับสนุนให้ประชาชนในหลายประเทศหันมาใช้รถยนต์ EV แทนรถยนต์ที่ใช้น้ำมัน
การเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมยานยนต์
ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตที่สำคัญแห่งหนึ่งของหลายค่ายรถยนต์จากประเทศญี่ปุ่นตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ประเทศมีความได้เปรียบในเรื่องของระบบ Ecosystem แต่เป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมยานยนต์ที่เกิดขึ้นในฝั่งอเมริกา จีน และยุโรป ส่งผลให้อุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทยได้รับผลกระทบตามไปด้วย
เนื่องจากอุตสาหกรรมยานยนต์ทางฝั่งอเมริกา จีน และยุโรป มีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาอย่างรวดเร็วอยู่ตลอด ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเป็นการเปลี่ยนแปลงไปสู่การตีตลาดใหม่ที่เป็นตลาดยานยนต์ EV แต่ในทางกลับกัน ค่ายรถยนต์ของประเทศญี่ปุ่นกลับมีแผนการไปตีตลาดการผลิตยานยนต์แบบ EV ที่ช้ากว่า ส่งผลให้ประเทศไทยที่เป็นฐานการผลิตรถยนต์หลักของประเทศญี่ปุ่นจึงได้รับผลกระทบเนื่องจากไม่สามารถปรับตัวให้ทันต่อสถานการณ์และการเปลี่ยนแปลงในตลาดอุตสาหกรรมยานยนต์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
การแข่งขันระหว่างประเทศที่สูงขึ้น
สืบเนื่องมาจากกระแสและความนิยมในรถยนต์ EV ที่เพิ่มมากขึ้นทั่วโลก ทำให้เกิดอัตราการแข่งขันระหว่างประเทศที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้หลาย ๆ ประเทศเริ่มเพิ่มสมรรถภาพและความสามารถในการเข้าร่วมห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ของอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการผลิตชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์ เช่น ประเทศอินโดนีเซียมีความต้องการที่จะเข้ามาเป็นผู้นำด้านการผลิตชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์ใน ASEAN แทนประเทศไทย ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ประเทศอินโดนีเซียก็มีความได้เปรียบในจุดนี้มากกว่าประเทศไทยด้วยเช่นกัน
เป็นเพราะว่า อินโดนีเซียมีทรัพยากรแร่ที่ใช้ในการผลิตแบตเตอรี่ ทำให้สามารถปรับตัวไปสู่การเป็นฐานการผลิตยานยนต์ EV ได้ง่ายและรวดเร็วกว่าประเทศไทย และยังได้เปรียบในเรื่องต้นทุนการผลิตและค่าแรงขั้นต่ำที่ถูกกว่าประเทศไทยหลายเท่าตัว รวมถึงรัฐบาลของประเทศอินโดนีเซียก็ยังมีการออกนโยบายที่ช่วยส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ EV เพื่อเป็นการดึงดูดการลงทุนจากชาวต่างชาติ และช่วยกระตุ้นการเปลี่ยนมาใช้งานรถยนต์ EV ในประเทศอย่างต่อเนื่อง เช่น นโยบายควบคุมการส่งออกแร่เพื่อสะสมไว้เป็นทรัพยากรในการผลิตแบตเตอรี่ และ การลดภาษีสำหรับรถยนต์ EV ที่ใช้ชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์ที่ผลิตในประเทศมากกว่า 40% เป็นต้น
แนวโน้มของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในอนาคต
ในอนาคต ประเทศไทยอาจต้องเตรียมตัวให้พร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย เนื่องจากปัจจุบัน ประเทศไทยมีอัตราการผลิตชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์เพื่อส่งออกและผลิตใช้เองในอัตราส่วนประมาณ 50 : 50 ทำให้หากผู้ประกอบการและบริษัทรับผลิตชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์ไทยไม่สามารถปรับตัวให้ทันต่อสถานการณ์และความต้องการของตลาดยานยนต์ EV ก็อาจมีโอกาสที่สัดส่วนและอัตราการผลิตชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์ในประเทศไทยจะหายลงไปมากกว่าครึ่ง ทำให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์ของไทยอาจได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง
ในส่วนของผู้ผลิตชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์ แนวโน้มรายได้ของบรรดาผู้ผลิตยังคงมีแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่ทว่าตลาดส่งออกก็ยังคงมีความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน รวมถึงอัตราการแข่งขันของประเทศคู่ค้าที่หันมาโฟกัสที่ยานยนต์ EV มากขึ้น ในขณะที่ประเทศไทยยังคงส่งออกชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์สำหรับเครื่องยนต์สันดาปภายในเป็นหลัก
แต่ถึงอย่างนั้น บริษัทผลิตยานยนต์จากประเทศจีนหลายค่ายก็ยังคงให้ความสนใจในการลงทุนที่ประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง เป็นผลมาจากศักยภาพในการผลิตชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์และอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยที่โด่งดังและมีชื่อเสียงในด้านดีมาอย่างยาวนาน ทำให้หากผู้ประกอบการและผู้ผลิตในอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยสามารถปรับตัวให้ทันตามการเปลี่ยนแปลงและความต้องการของตลาดได้ทันถ่วงที ก็ยังมีโอกาสที่ในอนาคต ประเทศไทยก็ยังคงสามารถเป็นศูนย์กลางในการผลิตชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์ของภูมิภาคสืบต่อไปได้
โดยสรุปแล้ว แนวโน้มของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยยังถือว่าคงไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง หากผู้ผลิตและผู้มีส่วนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยตื่นตัว หรือเตรียมพร้อมกับการรับมืออยู่ตลอดเวลา รวมถึงศึกษาหาข้อมูลอัปเดตอยู่เสมอ เพื่อให้ปรับตัวเข้ากับสถานการณ์และความต้องการของตลาดได้นั่นเอง เพียงเท่านี้เราก็จะก้าวไปข้างหน้าได้อย่างภาคภูมิ ไม่ตามหลังประเทศคู่ค้า และสามารถคงสถานะการเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ชั้นนำได้ต่อไปได้ในอนาคต
บทความอื่นๆที่น่าสนใจ
24 พ.ค. 2567
“ชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้า” นวัตกรรมที่มาพร้อมเทรนด์ที่มาแรงที่สุดในขณะนี้ !
23 พ.ค. 2567
เผยเคล็ดลับ ! ทำไม “อุปกรณ์ทางการแพทย์ของไทย” ถึงไม่แพ้ชาติอื่น
22 พ.ค. 2567