ชวนส่อง! ปี 2024 นี้ มี “เทคโนโลยีทางการแพทย์” อะไรน่าสนใจบ้าง?

เทคโนโลยีทางการแพทย์

หากทำการเปรียบเทียบความก้าวหน้าของ “เทคโนโลยีทางการแพทย์” ตลอดระยะเวลาหลายปีนับตั้งแต่ที่มีสถานการณ์โรค COVID-19 แพร่ระบาด เราจะพบว่าแนวโน้มความก้าวหน้าและการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีการแพทย์นั้นซบเซาลงไปมาก เนื่องจากวงการแพทย์หันมาให้ความสนใจกับการหยุดยั้งการแพร่ระบาดของ COVID-19 อย่างเต็มรูปแบบ

เทคโนโลยีทางการแพทย์

แต่ในปี 2024 นี้ ได้มีเทคโนโลยีทางการแพทย์ใหม่ ๆ ออกมาให้เราได้ทำความรู้จักกันมากมาย โดยในบทความนี้ เราจะขอชวนทุกคนมาส่อง “5 เทคโนโลยีทางการแพทย์ปี 2024” ที่กำลังจะมาพลิกวงการแพทย์ให้สามารถรักษาและช่วยเหลือผู้ป่วยได้มากขึ้น รวมถึงยังอาจเป็นการปูทางไปสู่อนาคตอันแสนรุ่งโรจน์ของวงการแพทย์ได้อีกด้วย

ทั้ง 5 เทคโนโลยีที่กล่าวมาจะมีอะไรบ้าง เราไปดูพร้อม ๆ กันเลย

ปัญญาประดิษฐ์

ในปัจจุบัน คงไม่มีใครไม่รู้จัก “ปัญญาประดิษฐ์” หรือ “Artificial Intelligence” หรือที่ทุกคนเรียกกันจนติดปากว่า “AI” โดยได้มีการคาดการณ์ว่า การนำเทคโนโลยี AI เข้ามาใช้ในการดูแลสุขภาพของผู้คนมีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้นจากมูลค่า 6.95 พันล้านดอลลาร์สหรัฐเมื่อปี 2021 มามีมูลค่า 9.72 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2029 ที่จะถึงนี้ และเทคโนโลยี AI ยังมีโอกาสที่จะเข้ามาเป็นส่วนสำคัญในการเปลี่ยนผ่านของ “Internet of Things (IOT)” เข้าสู่การเป็น “Internet of Medical Things (IoMT)” อย่างเต็มรูปแบบ เพื่อช่วยยกระดับการดูแลสุขภาพในชีวิตประจำวันของผู้คน, การวิจัย, การรักษา, การคัดกรองโรคเบื้องต้น รวมไปถึงการดูแลสุขภาพของผู้คนไปจนถึงตอนที่มนุษย์สิ้นอายุขัย

AI

นอกจากนี้ ก็ยังมีงานวิจัยที่แสดงให้เห็นอีกว่า ในอนาคต เทคโนโลยี AI ยังมีโอกาสที่จะสามารถวินิจฉัยโรคมะเร็งปอดจากภาพเอกซเรย์ได้ถูกต้องมากกว่าการให้มนุษย์มาวินิจฉัยถึง 17% รวมถึงตลาดทางด้านเทคโนโลยี ก็ยังเป็นอีกหนึ่งแวดวงที่พยายามนำเทคโนโลยี AI มาปรับใช้ในการยกระดับการดูแลสุขภาพของผู้ใช้งาน เช่น ระบบการตรวจ ติดตาม และแจ้งเตือนให้ผู้ใช้งานให้มีพฤติกรรมการดูแลสุขภาพที่ดี เป็นต้น

เทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติ 

“เทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติ” หรือ “3D Printing” กำลังเป็นเทคนิคที่ถูกนำมาใช้ในวงการแพทย์และสาธารณสุขและมีแนวโน้มการเติบโตของเทคโนโลยีนี้อย่างก้าวกระโดด เนื่องจากเทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติได้ถูกนำมาใช้ในการสร้างรากฟันเทียม การเปลี่ยนข้อต่อ และการทำอวัยวะเทียมเฉพาะบุคคล ทำให้มีการคาดการณ์ว่าภายในปี 2028 การนำเทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติมาใช้ในวงการแพทย์จะเติบโตขึ้นเป็น 3.54 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ จากที่เคยมีมูลค่าอยู่ 1.11 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐเมื่อปี 2021

3D Printing

โดยปัจจุบัน การใช้เทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติได้ถูกนำมาใช้ในวงการแพทย์มากมายหลายรูปแบบ แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ เมื่อไม่นานที่ผ่านมา ได้มีงานวิจัยและการทดลองเกี่ยวกับการพิมพ์อวัยวะสามมิติเพื่อการผลิตเนื้อเยื่อผิวหนังและการสร้างอวัยวะทดแทนเฉพาะบุคคล เช่น หัวใจ ไต ซึ่งหากงานวิจัยและการทดลองนี้ได้มีการใช้จริงอย่างแพร่หลายมากขึ้นในอนาคต เทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติก็จะช่วยยกระดับและลดเวลาที่ใช้ในการรักษา รวมถึงเวลาที่ต้องใช้ในกระบวนการตรวจวินิจฉัยและหัตถการได้มากขึ้น เช่น การช่วยลดเวลาในการผลิตเครื่องช่วยฟัง จากการใช้เวลามากกว่า 1 สัปดาห์ในการผลิต เหลือเพียงแค่ 1-2 วัน

การบำบัดรักษาถึงระดับยีน

ในอดีตโรคทางพันธุกรรมนั้นแทบจะเรียกได้ว่าเป็น “โรคที่ไม่มีทางรักษา” ให้หายขาดได้ แถมโรคชนิดนี้ยังส่งต่อไปถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน ทำให้ทุกคนในครอบครัวจำต้องเผชิญกับโรคที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ตั้งแต่เกิด แต่ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทางการแพทย์ ทำให้เกิดเทคโนโลยีการดัดแปลงพันธุกรรมที่มีชื่อว่า “CRISPR-Cas” ขึ้น โดยเทคโนโลยีนี้จะทำให้เราสามารถดัดแปลงและตัดส่วนของยีนที่เราต้องการออกได้อย่างแม่นยำ ไปจนถึง “การบำบัดด้วยยีน” หรือ “Gene Therapy”

การบำบัดด้วยยีน

และด้วยเทคโนโลยีนี้เอง ทำให้ในอนาคต มนุษย์มีโอกาสที่จะสามารถรักษาโรคร้ายต่าง ๆ มากมายที่มีความเกี่ยวข้องกับความผิดปกติของเซลล์และรหัสพันธุกรรมได้ เช่น โรคมะเร็ง HIV หรือโรคเม็ดเลือดแดงรูปเคียว แต่ทว่า เทคโนโลยีนี้ก็ยังคงเป็นข้อถกเถียงทางด้านจริยธรรมและความเหมาะสมของการแพทย์อยู่ในปัจจุบัน เนื่องจากเมื่อปี 2020 ได้มีนักวิจัยชาวจีนถูกดำเนินคดีเนื่องจากพยายามสร้าง “ทารกนักออกแบบ” หรือการพยายามสร้างเด็กที่มีความถนัดในการประกอบอาชีพนักออกแบบโดยเฉพาะขึ้นมา ทำให้เทคโนโลยีและแนวโน้มการบำบัดรักษาถึงระดับยีนยังคงเป็นเทคโนโลยีที่เรายังต้องจับตามองต่อไปในอนาคต

เทคโนโลยีโลกเสมือน

อีกหนึ่งเทคโนโลยีที่กำลังได้รับความนิยมไม่แพ้เทคโนโลยี AI นั่นก็คือ “เทคโนโลยีโลกเสมือน” หรือ “Extended Reality : XR” ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยี “Virtual Reality (VR)” “Augmented Reality (AR)” หรือเทคโนโลยี “โฮโลแกรม” โดยเทคโนโลยีโลกเสมือนนั้นกำลังเข้ามามีบทบาทสำคัญในวงการแพทย์และสาธารณสุขในหลากหลายด้าน ทั้งการฝึกอบรมนักศึกษาแพทย์ การผ่าตัดขั้นสูง ไปจนถึงการนำเทคโนโลยีนี้เข้ามาใช้ในการช่วยบรรเทาความเจ็บปวดและรักษาภาวะสุขภาพจิต

VR

หลังจากที่เทคโนโลยีนี้ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ทำให้ในอนาคตมีการคาดการณ์ว่า เทคโนโลยีนี้อาจมีอัตราการเติบโตถึงปีละ 26.88% หรือมีมูลค่าสูงถึง 1.96 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2030 และหากจะให้ยกตัวอย่างว่าการนำเทคโนโลยีโลกเสมือนนั้นมีผลต่อการเติบโตของวงการแพทย์ได้อย่างไรบ้าง เราก็ขอยกตัวอย่างเป็นกรณีศึกษาที่ศัลยแพทย์สามารถใช้หมวก VR ในการฝึกซ้อมการทำหัตถการและจำลองการมองเห็นอวัยวะภายในร่างกายของผู้ป่วย

เพียงเท่านี้ ก็คงสามารถพอเห็นอนาคตได้แล้วว่า เทคโนโลยีโลกเสมือนจะเข้ามามีบทบาทในวงการแพทย์และสาธารณสุขได้มากขนาดไหนในอนาคต

อุปกรณ์อัจฉริยะ

เทคโนโลยีทางการแพทย์ที่น่าจับตามองในปี 2024 อย่างสุดท้ายที่เราจะพาทุกคนไปรู้จักกันในวันนี้ก็คือ เหล่า “อุปกรณ์อัจฉริยะ” ที่ทยอยออกมาให้ผู้คนได้ยลโฉมและชื่นชมความอัจฉริยะกันอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น พลาสเตอร์ปิดแผลที่ใช้เซ็นเซอร์ในการตรวจสอบการรักษาบาดแผลเพื่อให้แผลปิดเร็วขึ้น เพิ่มการไหลเวียนของเลือดใหม่ไปยังเนื้อเยื่อที่บาดเจ็บ เพิ่มอัตราการฟื้นตัวของผิวหนัง และลดการเกิดแผลเป็นลง หรือ เข็มฉีดยาแบบใหม่ที่จะไม่มีส่วนของ “เข็ม” อีกต่อไป ตั้งแต่เทคโนโลยี MOF-Jet ที่เป็นการบีบอัดของเหลวผ่านทะลุรุขุมขน หรือแผ่นแปะวัคซีนจาก Vaxxas ที่สามารถจ่ายยาเข้าสู่ร่างกายได้เพียงนำแผ่นแปะลงที่ผิวหนัง

เทคโนโลยีทางการแพทย์

ทั้งนี้ ในอนาคตก็ยังมีการคาดการณ์กันอีกว่า จะมีอุปกรณ์และเทคโนโลยีทางการแพทย์อัจฉริยะที่จะออกมาพลิกโฉมวงการแพทย์กันอย่างต่อเนื่อง โดยอุปกรณ์และเทคโนโลยีเหล่านี้จะสามารถช่วยทำการรักษาให้ผู้คนได้มากมาย ทำให้เราต้องเฝ้าจับตามองเทคโนโลยีอีกหลายรูปแบบที่น่าจะทยอยออกมากันตลอดปี 2024 และเฝ้าดูว่าเทคโนโลยีทางการแพทย์เหล่านี้จะช่วยพลิกชีวิตของผู้คนได้มากขนาดไหน

บทความอื่นๆที่น่าสนใจ

“ชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้า” นวัตกรรมที่มาพร้อมเทรนด์ที่มาแรงที่สุดในขณะนี้ !

อุปกรณ์ทางการแพทย์

เผยเคล็ดลับ ! ทำไม “อุปกรณ์ทางการแพทย์ของไทย” ถึงไม่แพ้ชาติอื่น

4 แนวทางการบริหารจัดการน้ำ ต่อภาคอุตสาหกรรมการเกษตรของไทย